วารสารนิติศาสตร์: ปีที่ 8 ฉบับที่ 1 (มกราคม - มิถุนายน 2560)

Permanent URI for this collection

Browse

Recent Submissions

Now showing 1 - 5 of 5
  • Item
    การไกล่เกลี่ยหรือประนีประนอมข้อพิพาทก่อนฟ้องตามระเบียบของคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค
    (มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ, 2560) ธวัช ชูวิทย์สกุลเลิศ
    แม้ว่าจะมีการบังคับใช้ระเบียบคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคว่าด้วยหลักเกณฑ์การไกล่เกลี่ยหรือประนีประนอมข้อพิพาทเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิของผู้บริโภค พ.ศ. 2559 แต่ที่ผ่านมา ปริมาณคดีคุ้มครองผู้บริโภคตามสถิติการรับเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภค ปีงบประมาณ 2559 และปีงบประมาณ 2560 ยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เพราะหลักเกณฑ์ที่บังคับใช้นั้น อาจยังไม่จูงใจให้คู่กรณีบางรายเข้ามาไกล่เกลี่ย เช่น คดีหนี้บัตรเครดิต ที่มีการปรับโครงสร้า่งดอกเบี้ยให้แก่ลูกหนี้ตามข้อตกลงในการไกล่เกลี่ย แต่ลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ตามที่ตกลงไว้ ทำให้เจ้าหนี้ต้องมาฟ้องตามมูลหนี้ใหม่ที่ลดลงไปจากเดิม เป็นต้น จากการศึกษาพบว่า มีปัญหาอยุ่ที่กระบวนการไกล่เกลี่ยหรือประนีประนอมข้อพิพาท อยู่สองข้อ คือข้อ(1) โครงสร้างและอำนาจหน้าที่ที่มีมากเกินไปของคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค จนทำให้การใช้อำนาจหน้าที่ไกล่เกลี่ยและประนีประนอมข้อพิพาทก่อนมีการฟ้องคดีต่อศาล ไม่ีมีประสิทธิภาพ และ ข้อ(2) ระเบียบคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคว่าด้วยหลักเกณฑ์การไกล่เกลี่ยหรือประนีประนอมข้อพิพาทเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิของผู้บริโภค พ.ศ. 2559 ไม่มีสภาพบังคับที่ชัดเจนและเด็ดขาด กล่าวคือ หากคู่กรณีไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงหรือสัญญาประนอมยอมความไม่มีผลบังคับกันทันทีตามข้อตกลงหรือสัญญาประนอมยอมความโดยไม่ต้องนำคดีไปฟ้องต่อศาลอีก ผู้เขียนจึงมีข้อเสนอในปัญหาข้อ(1) ว่า ควรมีการแต่งตั้งคณะทำงาน หรือ จัดตั้งคณะกรรมการไกล่เกลี่ยและประนีประนอมข้อพิพาทเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิของผู้บริโภคก่อนมีการฟ้องคดีต่อศาล เพื่อทำหน้าที่แทนจะได้ช่วยแบ่งเบาภาระงานของคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค และ ปัญหาข้อ(2) คือระเบียบคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคว่าด้วยหลักเกณฑ์การไกล่เกลี่ยหรือประนีประนอมข้อพิพาทเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิของผู้บริโภค พ.ศ. 2559 ข้อ 16 ขาดมาตรการบังคับให้เกิดผลทันทีหากไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงจึงมีข้อเสนอแนะว่า ควรบัญญัติกฎหมายกำหนดให้การไกล่เกลี่ยและประนีประนอมในศาลเพื่อจะได้มีมาตรการบังคับให้มีผลทันทีไม่ต้องฟ้องคดีต่อศาลอีก
  • Item
    ข้อสังเกตเกี่ยวกับการเยียวยาชาวอเมริกันเชื้อสายญี่ปุ่นที่ถูกกักกันระหว่างช่วงสงครามโลกครั้งที่สองในประเทศสหรัฐอเมริกา
    (มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ, 2560) ประภาภรณ์ โรจน์ศิริรัตน์
    สิทธิในการได้รับการเยียวยาชดใช้ความเสียหายนั้นนับเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของเหยื่อผู้ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยหลักการแล้วจะเห็นได้ว่าวัตถุประสงค์หลักของการเยียวยาชดใช้ความเสียหายแก่เหยื่อผู้ถูกสิทธิมนุษยชนนั้นคือเพื่อทำให้เหยื่อผู้ที่ได้รับความเสียหายกลับคืนสู่ฐานะเดิมก่อนมีการละเมิดสิทธิมนุษยชน สำหรับเหยื่อนั้นการเยียวยาชดใช้ความเสียหายประกอบด้วยองค์ประกอบสำคัญสามประการ กล่าวคือ ความรับรู้ถึงความเจ็บปวด การเยียวยาความเสียหาย และการมีส่วนร่วมของผู้ที่มีความรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้น รวมทั้งความพยายามของรัฐในการแก้ไขสิ่งที่ผิดพลาดในอดีต การสร้างหลักเกณฑ์การเยียวยาชดใช้ความเสียหายโดยฝ่ายบริหารที่ดีนั้นหาใช่เพียงการชดใช้ด้วยจำนวนเงินเพียงประการเดียว หรือการคัดลอกหลักเกณฑ์การเยียวยาชดใช้ความเสียหายและประสบการณ์การเยียวยาชดใช้ความเสียหายจากการละเมิดสิทธิมนุษยชนของประเทศอื่น การออกแบบหลักเกณฑ์การเยียวยาที่ดีจึงไม่มีรูปแบบที่ตายตัว หากแต่เป็นการเยียวยาชดใช้ความเสียหายที่คำนึงถึงความรู้สึกของเหยื่อผู้ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนเป็นหลัก และรูปแบบการเยียวยาชดใช้ความเสียหายนั้นต้องสามารถบรรเทาความเสียหายที่เกิดขึ้นในแง่ของประโยชน์ที่เป็นรูปธรรมและประโยชน์เชิงสัญลักษณ์ ทั้งนี้เพื่อบรรเทาความเสียหายของเหยื่อยและบรรเทาความขัดแย้งรวมทั้งสร้างความปรองดองระหว่างผู้กระทำละเมิดและเหยื่อผู้ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน วัตถุประสงค์ของบทความแบับนี้นั้นเป็นการยกตัวอย่างการเยียวยาผ่านหลักเกณฑ์การเยียวยาที่ีมีเหยื่อเป็นศูนย์กลาง (Victim-Oriented Reparation Program) กล่าวคือ การเยียวยาชาวอเมริกันเชื้อสายญี่ปุ่นที่ถูกกักกันระหว่างช่วงสงครามโลกครั้งที่สองในสหรัฐอเมริกา ซึ่งหลักเกณฑ์การเยียวยาชาวอเมริกันเชื้อสายญี่ปุ่นที่ีถูกกักกันระหว่างช่วงสงครามโลกครั้งที่สองในรหรัฐอเมริกานั้นเกิดขึ้นจากการเคลื่อนไหวเรียกร้องของเหยื่อที่ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยตรงจากเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นเวลานาน จนท้ายที่สุดได้มาซึ่งหลักเกณฑ์ที่เหยื่อพึงพอใจ โดยหลักเกณฑ์นั้นประกอบไปด้วยการเยียวยาในรูปแบบที่เป็นตัวเงิน (Monetary Form of Reparations) คือการจ่ายเงินเยียวยาแก่เหยื่อผู้ถูกกักกันที่รอดชีวิตจำนวน 20,000 ดอลลาร์สหรัฐ และการเยียวยาในรูปแบบอื่นซึ่งมิใช่ตัวเงิน (Non-Monetary Form of Reparations) คือ การกล่าวคำขอโทษอย่างเป็นทางการ นอกจากนี้การเยียวยาชาวอเมริกันเชื้อสายญี่ปุ่นที่ถูกกักกันระหว่างช่วงสงครามโลกครั้งที่สองในสหรัฐอเมริกายังก่อให้เกิดบทเรียนแก่สังคมโดยรวมในการตระหนักถึงความผิดพลาดในอดีตเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการกระทำความผิดพลาดซ้ำอีกในอนาคตอีกด้วย
  • Item
    การใช้หลัก forum non conveniens แก้ปัญหาการขัดกันของเขตอำนาจศาลในสกุลกฎหมาย
    (มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ, 2560) อาทิตย์ ปิ่นปัก
    เมื่อประสบปัญหาการขัดกันของเขตอำนาจศาล สหราชอาณาจักรและสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นประเทศในสกุลกฎหมาย Common Law ได้ใช้หลัก forum non conveniens ในการแก้ปัญหาที่นิติสัมพันธ์อันใดอันหนึ่งสามารถตกอยู่ภายใต้เขตอำนาจรัฐของหลายประเทศ โดยมีหลัการที่สำคัญคือ ตัวชี้วัดความสะดวกและเหมาะสมในการพิจารณาคดีของศาลเป็นสำคัญ โดยศาลที่ได้รับคดีนั้นไว้อยู่จะเป็นผู้พิจารณาถึงความเหมาะสมดังกล่าว เพราะปัญหาการขัดกันของเขตอำนาจศาลอาจทำให้เกิดปัญหาสิ้นเปลืองทรัพยากรในกระบวนการยุติธรรม การดำเนินคดีซ้ำซ้อน การดำเนินคดีในศาลที่ไม่เหมาะสม และการขัดกันของผลแห่งคำพิพากษา เป็นอาทิ ในเรื่องดังกล่าว ศาลของสหราชอาณาจักรใช้มาตรฐานการพิสูจน์ให้ศาลเชื่อว่าศาลอื่นเป็นศาลที่มีเขตอำนาจเหนือคดีและเป็นศาลที่มีความเหมาะสมมากกว่าเมื่อพิจารณาถึงส่วนได้เสียของคู่ความทุกฝ่าย ส่วนศาลของสหรัฐอเมริกาใช้หลักที่ว่าศาลจะจำหน่ายคดีออกจากสารบบความ หากศาลที่พิจารณาคดีอยู่นั้นเป็นสถานที่ีที่ไม่สะดวกอย่างยิ่งและมีศาลอื่นที่เป็นทางเลือกที่ดีกว่าให้ดำเนินคดีนั้นได้อยู่ ศาลสหรัฐฯ ได้แบ่งข้อพิจารณาเป็นสองส่วนหลักๆ คือ ก) ข้อพิจารณาเกี่ยวกับตัวคู่ความ เช่น การเข้าถึงการพิสูจน์พยานหลักฐานในคดี ค่าใช้จ่ายของตัวความหรือพยาน และ ข) ข้อพิจารณาเพื่อประโยชน์สาธารณะ เช่น การบังคับตามคำพิพากษา และปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย บทความนี้แบ่งออกเป็นสามส่วน โดยส่วนแรกจะกล่าวถึงนิยามและสภาพปัญหาของการขัดกันของเขตอำนาจศาล (Conflict of Court Jurisdiction) ในทางระหว่างประเทศว่ามีลักษณะอย่างไร และก่อให้เกิดข้อขัดข้องในการระงับข้อพิพาทอย่างไร ส่วนที่สองจะกล่าวถึงต้นกำเนิด ที่มาและพัฒนาการของทฤษฎี forum non conveniens (FNC) ตลอดจนการใช้หลักเกณฑ์ดังกล่าวแก้ไขปัญหาการขัดกันของเขตอำนาจศาลในสหราชอาณาจักรโดยเฉพาะอย่างยิ่งในคำพิพากษาของศาลของประเทศอังกฤษ และในส่วนที่สามจะกล่าวถึงการใช้ทฤษี forum non conveniens แก้ไขปัญหาการขัดกันของเขตอำนาจศาลในสหรัฐอเมริกาโดยดูจากคำพิพากษาทั้งในระดับ Circuit Court และคำพิพากษาของ US Supreme Court
  • Item
    การจัดเก็บภาษีมลพิษจากรถยนต์ที่ใช้ในการขนส่ง
    (มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ, 2560) กนกกาญจน์ กาญจนประดิษฐ์
    รถยนต์เป็นแหล่งกำเนิดมลพิษที่สำคัญมาก เพราะเมื่อจำนวนประชากรเพิ่มมากขึ้นความต้องการใช้รถยนต์เพื่อการเดินทาง การขนส่ง การสร้างงาน การสร้างอาชีพ และความสะดวกสบายย่อมขยายตัวขึ้น ส่งผลให้ปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากท่อไอเสียรถยนต์นั้นมีปริมาณมากขึ้นตามไปด้วย ซึ่งก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์นี้เป็นตัวการที่จะนำไปสู่สาเหตุของสภาวะเรือนกระจก อันเป็นปัญหาที่มีผลกระทบต่อประชากรทั่วโลกทั้งในปัจจุบันและสืบต่อไปยังอนาคต ในปัจจุบันประเทศไทยได้เริ่มตระหนักถึงปัญหาดังกล่าวโดยเข้าร่วมเป็นภาคีในอนุสัญญาปารีส เพื่อที่ลดปัญหาจากการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลงโดยร่วมมือกับประเทศสมาชิกต่างๆ ทั่วโลก งานวิจัยนี้ แสดงว่ากฎหมายของประเทศไทยในปัจจะบันที่ใช้บังคับในเรื่องการจัดการเกี่ยวกับการเก็บภาษีมลพิษจากรถยนต์ที่ใช้ในการขนส่งนั้นยังมีข้อบกพร่องอยู่หลายประการ ทั้งยังไม่มีการตรากฎหมายเพื่อจัดการกับเรื่องดังกล่าวโดยเฉพาะ ผู้เขียนจึงเสนอแนวความคิดที่จะตรากฎหมายเพื่อใช้ในการจัดการกับปัญหาดังกล่าวเป็นการเฉพาะโดยการนำวิธีคิดทางเศรษฐศาสตร์ที่ว่า ผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่าย ซึ่งเป็นมารการที่จะทำให้ผู้ก่อมลพิษมีส่วนร่วมรับผิดชอบในค่าใช้จ่ายในการจัดการและแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ผู้ก่อมลพิษช่วยลดการก่อมลพิษลง
  • Item
    วิวัฒนาการของรัฐธรรมนูญแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน
    (มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ, 2560) ภูมิ มูลศิลป์
    ประเทศจีนเป็นประเทศที่มีความเก่าแก่และเป็นแหล่งอารยธรรมที่สำคัญแห่งหนึ่งของมนุษยชาติ โดยประเทศจีนนั้นมีแง่มุมพัฒนาการในด้านต่างๆ ที่สำคัญเป็นอันมากรวมถึงด้านรัฐธรรมนูญ ซึ่งบทความนี้จะได้กล่าวถึงพัฒนาการด้านรัฐธรรมนูญของจีนอย่างพอสังเขปนับแต่ความพยายามในเหตุการณ์ปฏิรูปร้อยวัน (Hundred Days Reform) ใน ค.ศ. 1898 โดยดำริของจักรพรรดิกวางซี่ว์ (Guangxu) เรื่อยมาจนเกิดขบวนการรัฐธรรมนูญในระหว่าง ค.ศ. 1905-1911 พัฒนาการด้านรัฐธรรมนูญภายหลังการก่อตั้งสาธารณรัฐจีน (Republic of China) ซึ่งเริ่มเมื่อปี ค.ศ. 1912 พัฒนาการด้านรัฐธรรมนูญภายหลังสงครามกลางเมืองและการสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีน (the People's Republic of China) ในปี ค.ศ. 1949 จวบจนการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันปี ค.ศ. 1982