วารสารนิติศาสตร์: ปีที่ 8 ฉบับที่ 2 (กรกฏาคม - ธันวาคม 2560)

Permanent URI for this collection

Browse

Recent Submissions

Now showing 1 - 5 of 5
  • Item
    การกำกับดูแลมหาวิทยาลัย
    (คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ, 2560) ลันตา อ่อนศรี
    การกำกับดูแลมหาวิทยาลัยนั้น เป็นหลักการที่ได้รับการยอมรับกันให้เป็นส่วนหนึ่งของรัฐธรรมนูญทั้งไทยและต่างประเทศ เนื่องจากเป็นหน้าที่ของรัฐในการจัดการศึกษาและดำเนินการกำกับ ส่งเสริมและสนับสนุนให้การจัดการศึกษามีคุณภาพและให้มาตรฐานสากล จากการศึกษาพบว่า มีปัญหาเกี่ยวกับการกำกับดูแลมหาวิทยาลัยในเรื่อง องค์กรที่มีอำนาจหน้าที่ในการประกันคุณภาพภายในและภายนอกมีความซ้ำซ้อนกัน เป็นการเพิ่มภาระของบุคลากรในมหาวิทยาลัยอันส่งผลกระทบต่องานด้านวิชาการ ทั้งยังเป็นการสิ้นเปลืองงบประมาณแผ่นดิน นอกจากนี้การกำหนดเกณฑ์มาตรฐานหลักสูตรที่ใช้กับทุกมหาวิทยาลัยและทุกคณะย่อมไม่สอดคล้องกับสภาพสังคมที่เน้นการศึกษาในเชิงวิเคราะห์ วิจัย ส่งผลกระทบต่อคุณภาพบัณฑิตในการนำความรู้ไปประกอบอาชีพ ซึ่งปัญหาดังกล่าวส่งผลเสียเป็นการเพิ่มภาระการกำกับดูแลของรัฐที่ทำให้ไม่สามารถบังคับใช้กฎหมายให้เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานหลักสูตรอย่างทันท่วงที เกิดความไม่เท่าเทียมกันในการบังคับใช้กฎหมายของเจ้าหน้าที่รัฐในการกำกับดูแลมหาวิทยาลัย วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มีวัตถุประสงค์ในการศึกษาแนวคิด หลักการ ทฤษฎีที่เกี่ยวกับหลักการกำกับดูแล ตลอดจนองค์กรที่มีอำนาจหน้าที่ในการกำกับดูแลมหาวิทยาลัย อีกทั้งศึกษากฎหมายเกี่ยวกับการกำกับดูแล การควบคุมมหาวิทยาลัย ตามหลักความเสมอภาค รวมถึงองค์กรที่มีอำนาจหน้าที่ในการกำกับดูแลมหาวิทยาลัยในต่างประเทศ ตลอดจนศึกษาและวิเคราะห์ถึงปัญหาทางกฎหมายและปัญหาการบังคับใช้ที่เกิดจากกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการกำกับดูแลมหาวิทยาลัย เพื่อเป็นการเสนอแนะแนวทางในการแก้ไขปัญหากฎหมายที่ เกี่ยวกับการกำกับดูแลมหาวิทยาลัย ในประเทศไทยดังนั้น ผู้ศึกษาจึงมีข้อเสนอแนะเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยการยุบเลิกสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) แล้ว ดำเนินการปรับปรุงอำนาจหน้าที่ โครงสร้าง และอัตรากำลังให้เหลือเฉพาะองค์กรของรัฐ ซึ่งก็คือสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) เพียงองค์กรเดียว ให้มีอำนาจหน้าที่ในการประเมินคุณภาพการศึกษาทั้งภายในและภายนอก แล้วสร้างและฝึกอบรมผู้ประเมินภายนอก เพื่อเป็นทางเลือกในการเข้ารับการประเมินภายนอกของมหาวิทยาลัยด้วยความสมัครใจตามแบบประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อให้มหาวิทยาลัยที่มีความประสงค์จะเข้ารับการประเมินจะต้องยื่นคำขอรับการประเมินเพื่อขอให้สมาคมหรือองค์กรเอกชนที่ได้รับใบอนุญาตจากรัฐให้สามารถเป็นผู้ประเมินและรับรองวิทยฐานะของมหาวิทยาลัยได้ตามกฎหมาย ซึ่งมีทั้งระดับหลักสูตร คณะและสถาบัน นอกจากนี้ควรแก้ไขเพิ่มเติมประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่องเกณฑ์มาตรฐานหลักสูตร ทั้งในระดับปริญญาตรีและระดับบัณฑิตศึกษา พ.ศ.2558 โดยการจำแนกหลักสูตรวิชาออกเป็นสายวิชาชีพและสายวิชาการให้ชัดเจน และกำหนดเกณฑ์กลางของแต่ละสาขาวิชาเพื่อให้สอดคล้องกับความแตกต่างกันของท้องถิ่นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยและสถาบันอุดมศึกษาแต่ละแห่ง ที่จะนำไปกำหนดเป็นหลักสูตรของตนเองอย่างมีเสรีภาพในเชิงสร้างสรรค์ รวมถึงแก้ไขเพิ่มเติม พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 โดยให้มีการกำหนดเนื้อหาที่ชัดเจนยิ่งขึ้น ในเรื่องวิธีการเข้ามามีส่วนร่วมของประชาชน เริ่มตั้งแต่กระบวนการมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา ตลอดจนการมีส่วนร่วมในการกำกับดูแลมหาวิทยาลัย ก็จะทำให้การกำกับดูแลมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ มีมาตรฐานการศึกษาที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน ตลอดจนสามารถป้องกันการบังคับใช้กฎหมายที่เกิดความเหลื่อมล้ำในการดำเนินงานและกิจการของมหาวิทยาลัย สถาบันอุดมศึกษาทั่วประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อเป็นไปตามความต้องการและความจำเป็นในการตอบสนองความต้องการทางสังคมและเศรษฐกิจภายในประเทศไทย และเกิดการพัฒนาด้านการอุดมศึกษาของประเทศไทยที่มีมาตรฐานและเป็นที่ยอมรับของสากลอย่างยั่งยืนต่อไป
  • Item
    หลักสาเหตุใกล้ชิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 877 (2)
    (คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ, 2560) พิชญ์ กลิ่นมาลี
    บทความทางวิชาการนี้ มีความมุ่งหมายที่จะศึกษาและเสนอแนวทางเรื่องหลักสาเหตุใกล้ชิด โดยวินาศภัยหรือความเสียหายนั้นมักจะเกิดขึ้นจากหลายสาเหตุ ซึ่งลำดับของสาเหตุที่เกิดขึ้นนั้นมีความต่อเนื่องอย่างไม่ขาดตอน นอกจากนี้ การเกิดภัยนั้นจะต้องอยู่นอกการคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัย กล่าวคือ เป็นภัยที่ไม่ได้รับประกันภัยไว้แต่มีสาเหตุใกล้ชิดติดกันอันเนื่องมาจากภัยที่ได้รับประกันภัยไว้ จากการศึกษากฎหมายไทยพบว่าบทบัญญัติในเรื่องนี้ ยังมิได้มีความครอบคลุมอย่างเพียงพอถึงสาเหตุอื่นที่อยู่นอกความคุ้มครองตามกรมธรรม์และได้ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ทรัพย์ซึ่งได้เอาประกันภัยไว้ อันนอกเหนือไปจากการกระทำป้องกันทรัพย์ของผู้เอาประกันภัยเพียงอย่างเดียว ทั้งมิได้มีการบัญญัติข้อยกเว้นความรับผิดของผู้รับประกันภัยตามหลักสาเหตุใกล้ชิด และหน้าที่ของผู้เอาประกันภัยไว้แต่อย่างใด จึงอาจทำให้ผู้เอาประกันภัยจำนวนมากไม่ทราบถึงความหมาย ตลอดจนการพิจารณานำหลักสาเหตุใกล้ชิดมาปรับใช้ตามวัตถุประสงค์อันแท้จริง
  • Item
    หลักเกณฑ์การเยียวยาที่เหมาะสมแก่เหยื่อที่ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยรัฐสำหรับประเทศไทย
    (คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ, 2560) ประภาภรณ์ โรจน์ศิริรัตน์
    บทความนี้เป็นการสรุปใจความสำคัญจากดุษฎีนิพนธ์ที่ผู้เขียนได้ศึกษาโดยมีวัตถุประสงค์ในการศึกษาปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการเยียวยาชดใช้ความเสียหายที่เหมาะสมแก่เหยื่อผู้ถูกรัฐละเมิดสิทธิมนุษยชน ทั้งนี้ได้ศึกษาถึงปัญหาทางด้านกระบวนการในการเยียวยา รูปแบบของการเยียวยาชดใช้ค่าเสียหาย และวิธีในการคำนวณการชดใช้ความเสียหาย เพื่อเสนอแนะแนวปฏิบัติที่เหมาะสมสำหรับการเยียวยาและชดใช้ความเสียหายแก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยรัฐสำหรับประเทศไทย จากการศึกษาพบว่า การเยียวยาชดใช้ความเสียหายผ่านกระบวนการทางบริหารโดยรัฐบาลออกหลักเกณฑ์การเยียวยาเพื่อชดใช้ความเสียหายแก่เหยื่อผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยรัฐอย่างรุนแรงและกว้างขวาง ประเทศไทยควรออกแบบหลักเกณฑ์การเยียวยาที่เหมาะสมโดยพิจารณาถึงปัจจัยดังต่อไปนี้ ความครอบคลุม (ในแง่ของคำนิยามของเหยื่อและผู้ได้รับประโยชน์) ความซับซ้อน (ในแง่ของความหลากหลายของรูปแบบการเยียวยาชดใช้ความเสียหาย) การสื่อสาร กระบวนการมีส่วนร่วมของเหยื่อ และการติดตามผลของหลักเกณฑ์การเยียวยาชดใช้ความเสียหายที่ได้มีการบังคับใช้ไปแล้ว สำหรับการละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยรัฐ เช่น เหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองนั้น การเยียวยาที่เหมาะสมจำต้องประกอบด้วยการเยียวยาที่เป็นตัวเงิน อันประกอบด้วยค่าเสียหายที่คำนวณเป็นตัวเงินได้ และค่าเสียหายเชิงศีลธรรม ซึ่งคำนวณโดยวิธีการคำนวณตามมาตรฐานสากล นอกจากนี้ยังจำต้องประกอบด้วยการเยียวยาชดใช้ความเสียหายในรูปแบบที่มิใช่ตัวเงิน และการเยียวยาเชิงสัญลักษณ์อีกด้วย
  • Item
    วิเคราะห์ร่างพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างฉบับใหม่
    (คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ, 2560) อัครวัฒน์ ศรีนวล
    หลักการจัดเก็บภาษีที่มีประสิทธิภาพนั้นโดยทั่วไปจะมีการคำนึงถึงปัจจัยต่างๆในทางเศรษฐกิจและสังคม ปัจจัยประการหนึ่งที่สำคัญคือบุคคลผู้ที่มีความมั่งคั่งมากกว่าควรที่จะมีภาระทางภาษีมากกว่าผู้มีรายได้น้อยซึ่งเป็นหลักการที่เป็นยอมรับกันในทุกประเทศทั่วโลกในการจัดเก็บภาษีที่เกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทยกฎหมายที่บังคับใช้ในปัจจุบันยังคงมีความล้าหลังและบกพร่อง ไม่สอดคล้องกับสภาวะทางสังคมและเศรษฐกิจ ดังนั้นทางภาครัฐจึงได้มีความพยายามจะแก้ไขปัญหาของกรณีดังกล่าว โดยต้องการจะออกกฎหมายฉบับใหม่เพื่อใช้แทนที่ ได้แก่ “ร่างพระราชบัญญัติที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง” เนื้อหาของร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวได้มีการเปลี่ยนแปลงหลักการสำคัญในหลายประการ เช่น ผู้มีหน้าที่เสียภาษี ทรัพย์สินที่จะต้องเสียภาษี การยกเว้นและบรรเทาภาระภาษีและอัตราภาษี เป็นต้น โดยมีจุดประสงค์สำคัญในการแก้ไขปัญหาของกฎหมายปัจจุบัน แต่อย่างไรก็ตามร่างพระราชบัญญัติที่เกิดขึ้นนั้นยังคงมีช่องว่างและจุดบกพร่องอยู่ในบางประการหากจะนำมาบังคับใช้ ประกอบกับยังคงมีปัจจัยเสี่ยงทางด้านต่างๆต่อการมีผลใช้บังคับของพระราชบัญญัติฉบับนี้
  • Item
    ความเป็นทายาทของบุตรที่เกิดตามพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ พ.ศ. 2558
    (คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ, 2560) พรชัย สุนทรพันธุ์
    เมื่อเจ้ามรดกถึงแก่ความตายบรรดามรดกทุกชนิดของผู้ตายย่อมตกแก่ทายาทไม่ว่าจะเป็นทายาทผู้รับพินัยกรรมหรือทายาทโดยธรรม ซึ่งบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของเจ้ามรดกก็ถือเป็นทายาทโดยธรรมผู้มีสิทธิรับมรดกของเจ้ามรดกด้วย ความเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของเจ้ามรดกที่เป็นบิดาหรือมารดานั้น แต่เดิมมาความเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายหมายถึงบุตรทีเกิดจากบิดามารดาที่แท้จริงและมีการตั้งครรภ์และคลอดบุตรตามธรรมชาติซึ่งต่อมาวิวัฒนาการทางการแพทย์เจริญมากขึ้น ได้มีการนำวิวัฒนาการทางวิทยาศาสตร์การแพทย์นำอสุจิและไข่ออกจากร่างกายมนุษย์และทำให้เกิดการตั้งครรภ์โดยไม่เป็นไปตามธรรมชาติ นั่นคือนำอสุจิหรือไข่ของสามีภริยาที่ชอบด้วยกฏหมายและประสงค์จะมีบุตรไปทำการปฏิสนธิกับไข่หรืออสุจิของชายหรือหญิงอื่นที่มิใช่ภริยาหรือสามีที่ชอบด้วยกฎหมายของตนนอกร่างกายเมื่อเกิดตัวอ่อนแล้วก็นำไปฝากไว้ในครรภ์ของหญิงอื่นภายใต้เงื่อนไขที่กำหนดไว้ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ พ.ศ. 2558 เมื่อหญิงที่ตั้งครรภ์คลอดบุตรออกมาตามพระราชบัญญัติดังกล่าวถือว่าเด็กนั้นเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของสามีภริยาที่ชอบด้วยกฎหมายนั้น จึงมีสิทธิรับมรดกของบิดาและมารดาที่ชอบด้วยกฎหมายในส่วนของตนได้ แต่หากจะใช้สิทธิในการรับมรดกแทนที่บิดาหรือมารดาที่ชอบด้วยกฎหมายของตนได้หรือไม่ต้องพิจารณาว่าเด็กเกิด โดยอสุจิของชายที่เป็นสามีหรือไข่ของหญิงที่เป็นภริยาหรือไม่ หากเด็กเกิดโดยอาศัยอสุจิของชายที่เป็นสามีหรือไข่ของหญิงที่เป็นภริยาเด็กนั้นย่อมเป็นผู้สืบสันดานโดยตรงของบิดาหรือมารดาโดยชอบด้วยกฎหมายแล้วแต่กรณีของตนก็ย่อมรับมรดกแทนที่บิดาหรือมารดาโดยชอบด้วยกฎหมายของตนได้ แต่หากเด็กเกิดจากอสุจิของชายอื่นหรือไข่ของหญิงอื่นย่อมไม่ใช่ผู้สืบสันดานโดยตรงของบิดาหรือมารดาโดยชอบด้วยกฎหมายของบิดาหรือมารดานั้นย่อมไม่มีสิทธิรับมรดกแทนที่บิดาหรือมารดาที่ชอบด้วยกฎหมายของตน