วารสารนิติศาสตร์: ปีที่ 6 ฉบับที่ 2 (กรกฎาคม - ธันวาคม 2558)

Permanent URI for this collection

Browse

Recent Submissions

Now showing 1 - 2 of 2
  • Item
    ดอกเบี้ยกับข้อปัญหา
    (มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ, 2558) เดชา ศิริเจริญ
    การเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรานั้นเป็นความผิดต่อกฎหมายในหลายกรณี ได้แก่ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตร 654 พระราชบัญญัติดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงิน พ.ศ. 2523 พระราชบัญญัติโรงรับจำนำ พ.ศ. 2505 และพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ. 2475 สุดแล้วแต่ว่าเป็นกรณีต้องด้วยบทกฎหมายใด ซึ่งโดยบทบัญญัติของกฎหมายจะกำหนดให้ดอกเบี้ยซึ่งเรียกเก็บเกินร้อยละสิบห้าต้องลดลงมาเหลือเพียงร้อยละสิบห้าตามกฎหมายเท่านั้น ดอกเบี้ยส่วนที่เกินมาย่อมตกเป็นโมฆะ เป็นผลให้คู่สัญญาชอบแต่จะบังคับดอกเบี้ยส่วนที่ไม่เกินร้อยละสิบห้า จนกระทั่งมีคำพิพากษาฎีกาวางหลักให้ดอกเบี้ยทั้งหมดทั้งส่วนที่เกินและที่ไม่เกินร้อยละสิบห้าตกเป็นโมฆะไปทั้งหมด จึงทำให้บทบัญญัติที่ลดดอกเบี้ยส่วนที่เกินร้อยละสิบห้าลงมาไม่มีผลบังคับใช้ได้อีกต่อไป อีกทั้งโทษตามพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรานี้ยังเป็นโทษที่เบา และครอบคลุมไปไม่ถึงสัญญาประเภทอื่น จึงสมควรได้รับการแก้ไข
  • Item
    สัญญาค้ำประกันเป็นมรดกตกทอดแก่ทายาทหรือไม่
    (มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ, 2558) พรชัย สุนทรพันธุ์
    สัญญาค้ำประกัน เป็นการประกันด้วยตัวบุคคลโดยผู้ค้ำประกันทำสัญญากับเจ้าหนี้ว่าหากลูกหนี้ผิดนัดต่อเจ้าหนี้ ผู้ค้ำประกันจะชำระหนี้แทนลูกหนี้ ซึ่งแตกต่างจากการประกันหนี้ในลักษณะอื่น เช่น จำนองหรือจำนำ โดยกรณีจำนองหรือจำนำนั้นผู้จำนองหรือผู้จำนำจะนำทรัพย์สินไปเป็นประกันหนี้ ซึ่งกรณีสัญญาค้ำประกันนั้นกฎหมายไม่ได้กำหนดแบบไว้แต่อย่างใด กำหนดไว้แต่เพียงว่าหากจะมีการฟ้องร้องให้บังคับคดีตามสัญญาค้ำประกั้นจะต้องมีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ค้ำประกัน หากเจ้าหนี้ใช้หลักฐานเป็นหนังสือที่่ลงลายมือชื่อผู้ค้ำประกันมาเป็นหลักฐานในการฟ้องร้องให้ผู้ค้ำประกันรับผิดตามสัญญา หลักฐานดังกล่าวไม่ต้องปิดอากรแสตมป์ก็ใช้เป็นหลักฐานในการฟ้องร้องได้ แต่อย่างไรก็ตาม หากสัญญาค้ำประกันทำเต็มรูปแบบลงลายมือชื่อผู้ค้ำประกันและเจ้าหนี้ เช่นนี้ สัญญาค้ำประกันถือเป็นหนังสือตราสารอย่างหนึ่ง ซึ่งหากจะใช้สัญญาดังกล่าวฟ้องร้องผู้ค้ำประกันให้รับผิดตามสัญญา สัญญาค้ำประกันนั้นก็จะต้องติดอากรแสตมป์จึงจะใช้ฟ้องคดีนั้นได้ จากกรณีที่สัญญาค้ำประกันเป็นการประกันด้วยบุคคล เมื่อลูกหนี้ผิดนัดต่อเจ้าหนี้ในขณะที่ผู้ค้ำประกันยังมีชีวิตอยู่ ความรับผิดของผู้ค้ำประกันย่อมเกิดขึ้นแล้วและต่อมาผู้ค้ำประกันถึงแก่ความตาย ความรับผิดชอบของผู้ค้ำประกันย่อมเป็นมรดกตกแก่ทายาทของผู้ค้ำประกัน เนื่องจากความรับผิดของผู้ค้ำประกันไม่ใช่เรื่องเฉพาะตัวของผู้ค้ำประกัน แต่หากเป็นกรณีที่ผู้ค้ำประกันถึงแก่ความตายก่อนที่ลูกหนี้จะผิดนัดต่อเจ้าหนี้ ผู้เขียนเห็นว่า สัญญาค้ำประกันน่าจะต้องระงับเพราะจากที่กล่าวมาแล้วว่าการทำสัญญาค้ำประกันเป็นการประกันหนี้ด้วยตัวบุคคลซึ่งน่าจะเป็นสัญญาเฉพาะตัวของผู้ค้ำประกัน สิทธิและหน้าที่ตามสัญญาค้ำประกันจึงไม่น่าจะเป็นมรดกตกทอดแก่ทายาท ดังนั้น หากลูกหนี้ผิดนัดต่อเจ้าหนี้ภายหลังที่ผู้ค้ำประกันถึงแก่ความตายถือว่าความรับผิดของผู้ค้ำประกันเกิดหลังจากที่ผู้ค้ำประกันถึงแก่ความตาย ทายาทของผู้ค้ำประกันจึงไม่น่าจะต้องรับผิดต่อเจ้าหนี้ แต่อย่างไรก็ตามมีคำพิพากษาฎีกาที่ 1268/2555 วินิจฉัยว่า แม้ผู้ค้ำประกันจะถึงแก่ความตายก่อนลูกหนี้ผิดนัดต่อเจ้าหนี้ ความรับผิดก็ยังคงต้องตกแก่ทายาทของผู้ค้ำประกัน ด้วยความเคารพในคำพิพากษาฎีกาดังกล่าว ผู้เขียนเห็นว่า เมื่อผู้ค้ำประกันถึงแก่ความตายก่อนที่ความรับผิดของผู้ค้ำประกันจะเกิดขึ้น ทายาทของผู้ค้ำประกันจึงหาจำต้องรับผิดต่อเจ้าหนี้แต่อย่างใด